หลังจากที่เพื่อนๆ ได้เลือกดูแหล่งทำเลที่อยู่อาศัยที่ถูกใจ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลำดับต่อไปถ้าหากเพื่อนๆ อยากซื้อคอนโด เป็นของตัวเองซักห้อง แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง มีอะไรที่ต้องทำก่อนหลังไหม พอได้ไปพบไปพูดคุยกับเพื่อนๆ ก็ได้รับข้อมูล และคำศัพท์แปลกๆ อย่าง ที่เค้าชอบพูดกันบ่อยๆว่า ติดแบล็คลิส ซื้อคอนโดไม่ได้ เลยทำให้ยิ่งกังวลไปใหญ่ วันนี้ พวกเรา fairycondo เลยอยากพาเพื่อนๆ ไปรู้จักคำๆนี้ ให้มากขึ้น ว่าคืออะไร จำเป็นต้องกังวลไหม แล้วเราจะสามารถ เช็คแบล็คลิส ได้อย่างไร ไปดูกันเลย
blacklist คือ คำที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่มีประวัติค้างชำระเงินกับสินเชื่อนั่นเอง ถ้าหากเพื่อนๆ ยังไม่เคยมีประวัติการกู้เงินใดๆ ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องนี้ และเพื่อนๆ ก็จะได้เซ็นเอกสารสำหรับให้ธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่เพื่อนๆทำเรื่องกู้นั้น เซ็นยินยอมให้พวกเค้าสามารถเช็กข้อมูลในส่วนนี้ด้วยอยู่ดี ซึ่งในส่วนของการกู้เพื่อซื้อคอนโดนั้น ก็จะมีขั้นตอนในส่วนเอกสารนี้ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไหร่ที่เราได้ไปยื่นเอกสาร สำหรับดำเนินการกู้เงินใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าทำเรื่องกู้เพื่อซื้อรถ หรือซื้อบ้าน ในขั้นตอนการยื่นเอกสารนั้น ผู้กู้จะต้องลงลายมือชื่อ เพื่อยินยอมให้ธนาคารตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ เพื่อที่ทางธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้นั้น เค้าจะได้นำข้อมูลของเราไปตรวจสอบ ประวัติการชำระเงิน กับทางเครดิตบูโรที่มีเก็บฐานข้อมูลเอาไว้
เพื่อจะได้รู้ข้อมูลของเราว่าเคยมีประวัติการกู้เงินที่ไหนบ้าง การจ่ายเงินตรงหรือไม่ มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะกู้ยืมเงิน สำหรับซื้อคอนโดก้อนนี้หรือเปล่า เครดิตบูโรจึงเป็นเหมือนดั่ง ผู้ประเมินความเสี่ยงต่างๆ และเก็บข้อมูลของผู้กู้เอาไว้ เพื่อวัดระดับความน่าเชื่อถือในการธุรกรรมต่างๆของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลการใช้งานบัตรเครดิต, ประวัติการชำระบัตรเคดิตจากธนาคารต่างๆ, รายงานความเคลื่อนไหวเครดิต
ซึ่งข้อมูลตรงนี้ ไม่สามารถเปิดเผยให้กับใครได้โดยตรงๆ จะต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าตัวเท่านั้น เพราะมีกฎหมายป้องกันอยู่ ซึ่งเมื่อธนาคารและสถาบันการเงิน ได้รับอนุญาตแล้ว จะได้เข้ามาดูประวัติของผู้ยื่นเรื่องขอกู้ยืม เพื่อที่จะได้นำข้อมูลที่เครดิตบูโรเก็บไว้นั้น นำมาใช้ประกอบข้อมูลของผู้กู้ เพื่อลดความเสี่ยง หรือความเสียหาย จากการปล่อยกู้นั่นเอง
โดยทางเครดิตบูโรนั้น จะจัดเก็บ ประวัติ และข้อมูลของผู้กู้เอาไว้เพียง 3ปีเท่านั้น หากหนี้ไหนที่ชำระครบถ้วนแล้ว ก็จะขึ้นสถานะว่า ปิดบัญชี และแสดงข้อมูลอยู่ตรงนั้นไม่เกิน 3ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงานข้อมูลว่าปิดบัญชีนั่นเอง เครดิตบูโรจึงเป็นเพียงบริษัทที่เก็บข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เก็บประวัติธุรกรรมทางการเงินตามความเป็นจริงเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ขึ้นแบล็คลิสต์ ให้ใครแต่อย่างใด
blacklist คือ การที่ธนาคาร หรือสถาบันทางการเงินนั้นได้ตรวจเช็คดูประวัตการชำระเงินของผู้กู้ผ่านเครดิตบูโร และประเมินแล้วว่า ผู้กู้ มีการชำระหนี้ที่คงค้าง หรือมีการพักชำระหนี้ จะด้วยนโยบายของภาครัฐ หรือทางธนาคารเอง รายงานก็จะระบุว่า ผู้กู้นั้นไม่สามารถชำระหนี้ได้ ข้อมูลทางเครดิต ก็จะมีความผิดปกติ ถึงเป็นเหตุผลให้เมื่อไปกู้ที่ไหน แล้วเช็กเครดิตบูโรแล้ว เหล่าสถาบันสินเชื่อ หรือธนาคาร ก็ต่างปฏิเสธที่จะให้กู้ เพราะเห็นประวัติการชำระของผู้กู้ไม่ดี
ตราบใดที่สถานะการชำระเงินใน เครดิตบูโร มีลักษณะแบบนี้ ก็จะทำให้ ไปยื่นกู้ที่ไหน ก็จะไม่สามารถทำได้ เพราะเครดิตบูโร ได้เก็บข้อมูลเอาไว้อยู่ ซึ่งทางผู้กู้เองต้องมาปิดบัญชีเดิมให้เป็นปกติก่อน จึงจะสามารถมีประวัติการชำระเงินที่ดี และยื่นกู้ที่ไหนได้ตามปกติ
การ ติดblacklist นั้น ถ้าให้อธิบายเพิ่มเติมอีกหน่อยก็คือ ผู้กู้ผิดนัดไม่มีการชำระเงินเข้ามาเลย, ผู้กู้ที่มีการผิดนัดชำระ, ผู้กู้ที่มีการชำระเงินล่าช้ามากเกินไป จะมีการบันทึกข้อมูลใน 60วัน ถ้าผู้กู้ไม่มีความสามารถผ่อนจ่ายชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ก็จะให้โอกาสในการปรับโครงสร้างนี้ ทั้งนี้รายละเอียดในการปรับนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการเข้าไปพูดคุยกับทางสถานบันทางการเงินหรือธนาคารที่ปล่อยเงินกู้นั่นเอง ว่าจะช่วยเหลือด้วยการเพิ่มระยะเวลา หรือลดเงินต้น และจัดระเบียบตารางการผ่อนชำระให้ผู้กู้ใหม่
แต่ถ้าหากผู้กู้ไม่มีความสามารถในการชำระได้เลยนั้น ทางเจ้าหนี้ก็จะส่งเอกสารมาเพื่อทวงถาม และเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่อไป เมื่อถึงขั้นนั้นแล้ว ข้อมูลและประวัติทางการเงินของผู้กู้ ในเครดิตบูโร ก็จะกลายเป็น ผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถขอสินเชื่อใดๆ ได้อีกเลย โดยทางเครดิตบูโรจะเก็บข้อมูลนั้นไว้ในระบบเป็นเวลา 3ปี เมื่อพ้นระยะเวลานั้นแล้ว ก็จะสามารถกลับมาทำเรื่องขอสินเชื่อใหม่ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสถาบันการเงินหรือธนาคารที่รับเรื่องกู้อีกที ว่าจะพิจารณาให้อย่างไร
เพราะทาง เครดิตบูโรเก็บข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของผู้กู้นั้นเป็นเพียง การแสดงประวัติ เพื่อประกอบการอนุมัติเท่านั้น ทั้งนี้ก็ต้องแล้วแต่สถาบันทางการเงินหรือธนาคารที่ให้กู้ยืมเงินนั้น มีนโยบายอย่างไร ซึ่งอาจจะไม่ได้นำข้อมูลในเครดิตบูโรมาเป็นหลักเกณฑ์สำคัญ อาจจะนำปัจจัยอื่นๆของผู้กู้ มาพิจารณาแทน เช่น ผู้กู้ที่มีเงินหมุนเวียนดี สม่ำเสมอ, สลิปเงินเดือนที่มีรายได้มั่นคง, ไม่มีหนี้สินเยอะกว่าที่กำหนด เป็นต้น เลยจะเห็นในหลายๆสถาบันทางการเงินหรือธนาคารที่ จะประกาศมาว่า ไม่เช็กเครดิตบูโร ก็สามารถทำเรื่องกู้ได้นั่นเอง
เมื่อเพื่อนๆ รู้ข้อมูลคร่าวๆ แบบนี้แล้ว ก็อุ่นใจได้เลย เพราะยิ่งเป็นผู้กู้หน้าใหม่ด้วยแล้ว ยังไงก็ไม่มีประวัติทางการเงินที่มีความเสี่ยง ขอเพียงเพื่อนๆ มีรายได้มากกว่ารายจ่าย มีเงินเหลือเพียงพอ มีเงินเก็บแล้วส่วนหนึ่ง เท่านี้ สถาบันทางการเงิน หรือธนาคาร ก็เข้าใจได้ว่า ผู้กู้มีศักยภาพมากพอ สำหรับการกู้เงินแล้ว เพียงเท่านี้ คอนโดในฝัน ของเพื่อนๆ ก็อยู่ใกล้แค่เอื้อมแล้วล่ะ