บางทีการซื้ออสังหาริมทรัพย์นั้นในปัจจุบันก็ยังไม่ได้ง่ายเสมอไป ถึงแม้ปัจจุบันผู้พัฒนาโครงการต่าง ๆ จะนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้เพื่อช่วยให้การซื้อขายง่ายขึ้น เช่น การ Booking Online ต่าง ๆ ค่ะ แต่ผู้ซื้อส่วนใหญ่ก็อาจจะยังไม่ไว้ใจระบบเท่าไหร่ และก็ยังมีความกังวลเรื่องการกู้ว่าจะผ่านหรือไม่หากจ่ายเงินจองไปแล้ว ซึ่งมีมูลค่าไม่ใช่น้อยเลยทีเดียวค่ะ เพราะฉะนั้นในการที่จะทำการจองที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียม ผู้ซื้อจะต้องระมัดระวังในเรื่องของการตรวจสอบสัญญาและเงื่อนไขก่อนจองให้ดี เพราะเมื่อถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับการกู้ซื้อขึ้น กู้ไม่ผ่าน และจะต้องขอเงินจองคืน และถ้าหากในสัญญาไม่ได้ระบุไว้ในเงื่อนไข ก็อาจจะทำให้มีปัญหาในเรื่องของการขอเงินจองคืนได้ค่ะ ถ้าจะพูดถึงเงินจองนั้น เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่อยู่ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์หรือเคยผ่านการซื้อขายบ้าน คอนโดมิเนียมมาแล้ว ก็คงจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว ซึ่งสำหรับใครที่ไม่มีปัญหาในเรื่องของการกู้ก็คงจะไม่เคยเจอกับปัญหานี้ แต่ใครที่ยังพบเจอกบปัญหานี้อยู่ คือ วางเงินจองไปแล้วหรือทำการผ่อนดาวน์ไปสักระยะหนึ่งแล้ว แต่กลับทำการกู้ไม่ผ่าน จะขอเงินดาวน์คืนได้หรือไม่ โครงการมีสิทธิ์ยึดเงินดาวน์หรือเปล่า มีคำตอบให้ในบทความนี้ค่ะ และวันนี้ แฟรี่คอนโด จะขอพาทุกท่านทำความเข้าใจในเรื่องของ กู้คอนโดไม่ผ่านขอคืนเงินจองได้หรือไม่ ไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ สำหรับกรณีที่เรากู้ไม่ผ่าน เราก็สามารถขอคืนเงินดาวน์ทั้งหมดจากโครงการได้ตามกฎหมายค่ะ แต่ทั้งนี้เราจะได้รับเงินทำสัญญาและเงินจองคืนด้วยหรือไม่นั้น ก็จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เราได้ทำการตกลงกันไว้กับทางโครงการค่ะ ซึ่งถ้าหากทางโครงการจะไม่ทำการคืนจะต้องมีการระบุในสัญญาให้ชัดเจนว่าจะไม่มีการคืนเงินจองถ้าหากกู้ไม่ผ่านค่ะ ทำหนังสือของคืนเงินดาวน์ ในกรณีที่กู้คอนโดไม่ผ่าน เพื่อเป็นการแจ้งให้กับทางโครงการทราบ สามารถที่จะยื่นหนังสือขอคืนเงินดาวน์ให้กับทางโครงการได้ค่ะ และถ้าหากทางโครงการไม่ดำเนินการคืนเงินดาวน์ให้ก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ตามลำดับขั้นตอนค่ะ ฟ้องคดีผู้บริโภค แจ้ง สคบ หากไม่สามารถรับเงินจองคืนได้เมื่อกู้ไม่ผ่าน ทั้งนี้สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ค่ะ เนื่องจากกฎหมายระบุไว้ว่าเงินจองเป็นหลักฐานที่ใช้แสดงว่ามีการทำสัญญาซื้อไว้จริง และเป็นหลักประกันว่าผู้ซื้อที่เป็นผู้วางเงินมัดจำจะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อผู้รับจองตามข้อตกลงในสัญญาจองซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 377 ว่าด้วย “ในกรณีกู้ไม่ผ่านไม่สามารถโทษเป็นความผิดของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ และไม่ใช่ความผิดของลูกหนี้ จึงถือเป็นการหลุดพ้นจากการชำระหนี้ซื้อบ้านกับทางโครงการ และโครงการย่อมไม่มีสิทธิที่จะรับชำระหนี้ตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219 และมาตรา 372” มาตรา 219 ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น ถ้าภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้วนั้น ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ไซร้ ท่านให้ถือเสมือนว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยฉะนั้น มาตรา 372 นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่ ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้ได้ ลูกหนี้ก็หาเสียสิทธิที่จะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่ แต่ว่าลูกหนี้ได้อะไรไว้เพราะการปลดหนี้ก็ดี หรือใช้คุณวุฒิความสามารถของตนเป็นประการอื่นเป็นเหตุให้ได้อะไรมา หรือแกล้งละเลยเสียไม่ขวนขวายเอาอะไรที่สามารถจะทำได้ก็ดี มากน้อยเท่าไร จะต้องเอามาหักกับจำนวนอันตนจะได้รับชำระหนี้ตอบแทน วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่การชำระหนี้อันฝ่ายหนึ่งยังค้างชำระอยู่นั้นตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นมิต้องรับผิดชอบ ในเวลาเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งผิดนัดไม่รับชำระหนี้ ติดต่อทนายบ้านและคอนโด ในกรณีที่กู้ไม่ผ่านและไม่ได้รับเงินจองคืน สามารถติดต่อกับทนายบ้านและคอนโดเพื่อช่วยจัดการในเรื่องของการฟ้องร้องขอคืนเงินจองได้ค่ะ ซึ่งทางทนายก็จะให้คำปรึกษาและเรียกร้องสิทธิในการคืนเงินจากผู้ประกอบการบ้านและคอนโด ต่าง ๆ และสามารถช่วยในการโต้แย้งสิทธิผู้บริโภค สัญญาซื้อขายแบบไม่เป็นธรรม ให้เราได้รับความเป็นธรรมอย่างที่สุดค่ะ
ดังนั้นในกรณีกู้ไม่ผ่านไม่สามารถโทษเป็นความผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ และไม่ใช่ความผิดของลูกหนี้ จึงถือเป็นการหลุดพ้นจากการชำระหนี้ซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมกับทางโครงการ และโครงการไม่มีสิทธิที่จะรับการชำระหนี้ตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219 และมาตรา 372 ค่ะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ