ผ่อนคอนโดไม่ไหว ความผันผวนทางเศรษฐกิจมีผลต่อประชาชนจำนวนมากเนื่องจากเศรษฐกิจที่ผันผวนเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายสลับหมุนเวียนกันตลอดเวลาส่งผลให้รายรับของแต่ละคนอาจจะไม่ได้เท่าที่ควรจะเป็นและอาจจะทำให้ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาทางการเงินต่างๆ
วันนี้แฟรี่คอนโดจะมาพูดถึงการเผชิญหน้ากับปัญหาการผ่อนคอนโดไม่ไหวและทางออกในการแก้ไขปัญหานี้ซึ่งเป็นปัญหาที่ใครหลายๆคนต่างก็วิตกกังวลกันค่ะ
ปล่อยขายขาดทุน
เป็นทางเลือกที่ทำใจได้ยากค่ะสำหรับการปล่อยขายขาดทุน แต่ถ้าหากเราผ่อนคอนโดไม่ไหวจริงๆก็จำเป็นที่จะต้องทำในทางเลือกนี้ค่ะเพราะว่าถ้ายังยื้อต่อไปทุกอย่างอาจจะแย่ลงกว่าเดิม หากสถานการณ์ไม่สู้ดีนักสิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือประกาศขายคอนโด ขาดทุนนิดหน่อยก็ยังพอทำใจได้ค่ะดีกว่ามีหนี้ก้อนโตที่ต้องชำระและอาจจะทำให้มีหนี้เพิ่มไปอีกเรื่อยๆเลยก็ได้ค่ะ หรืออาจจะยกให้ญาติ คนรู้จัก หรือคนที่สนใจ ไปผ่อนต่อแบบฟรีๆเลยก็ได้ โดยทำการโอนชื่อเจ้าของไปให้กับคนที่จะมารับช่วงต่อจากเราเป็นการตัดใจจากตรงนั้นเพื่อที่จะไม่เป็นการก่อให้เกิดหนี้เพิ่มขึ้น และเราก็ค่อยหากันใหม่ในอานาคตได้ก็ยังไม่สายไปนะคะ
ยืมพ่อเเม่
เป็นอีกทางเลือกหนึ่งถ้าหากเราผ่อนคอนโดไม่ไหวจริงๆ คนที่เราจะสามารถพึ่งพาได้จริงๆก็คงต้องเป็นพระในบ้านของเราก็คือพ่อและแม่ของเรานั่นเองค่ะ เราอาจจะขอยืมท่านสักก้อนหนึ่งหากจำนวนนั้นไม่ทำให้ท่านทั้งสองลำบากแล้วนำมาปิดค่าคอนโดที่เหลือและถ้าหากเราฟื้นตัวได้ก็ควรตกลงกับท่านให้ดีว่าจะรีบนำเงินที่ยืมไปคืนให้ท่านได้ในช่วงไหนหรือจะค่อยๆทยอยคืนให้ท่านก็ได้แล้วแต่ว่าเราจะตกลงกับท่านยังไงค่ะ หรือมีอีกหนึ่งวิธีขอยืมค่าผ่อนแค่บางเดือนแค่พอให้เราสามารถผ่อนคอนโดได้ในช่วงที่เราผ่อนไม่ไหวในระหว่างช่วงที่เรายังเกิดวิกฤติอยู่และถ้าหากสถานการณ์การงานและการเงินของเราดีขึ้นเราก็จะสามารถผ่อนต่อเองได้และก็สามารถคืนเงินให้ท่านได้ด้วยค่ะ
ไปขอเเก้หนี้กับธนาคาร
1. พักชำระเงินต้นจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย
คือธนาคารจะให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเงินต้นยังอยู่เหมือนเดิม โดยธนาคารส่วนใหญ่จะต่อระยะออกไปให้อีก 3 – 6 เดือน และอาจจะมีเงื่อนไขอื่นๆอีก ซึ่งจะมีกำหนดระยะเวลารับลงทะเบียนด้วยค่ะ
2. พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย
การพักจ่ายหนี้เป็นทางออกสำหรับคนที่ไม่มีรายได้เข้ามาในช่วงนั้น หลายๆธนาคารจะให้เวลาอยู่ที่ 3 เดือนซึ่งเป็นการชะลอการจ่ายหนี้ออกไปก่อนและเมื่อครบกำหนดทางธนาคารก็จะคิดทบคืนย้อนหลังแล้วจะแบ่งจ่ายยังไงก็อยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคารค่ะ
3. ลดยอดผ่อนชำระรายเดือนให้ต่ำกว่าปกติ
ธนาคารส่วนใหญ่สามารถปรับลดยอดผ่อนให้ประมาณ 30% - 50% และจะกำหนดระยะเวลาด้วยว่าจะสามารถลดให้กี่เดือน ซึ่งปกติธนาคารมักยอมให้ผ่อนผันได้ไม่เกิน 2 ปี และสามารถขอดำเนินการได้เพียงครั้งเดียวค่ะ ซึ่งมีหลายธนาคารเลยที่ยินดีให้ขอปรับลดยอดผ่อนได้ค่ะ
4. รีไฟแนนซ์
เป็นวิธีที่ช่วยลดค่างวดแต่ละเดือนให้น้อยลง โดยการย้ายหนี้จากธนาคารที่เรามีสัญญาร่วมกันอยู่ไปยังธนาคารใหม่เพื่อที่จะทำให้เราได้ดอกเบี้ยในอัตราที่ถูกกว่าเดิมซึ่งธนาคารส่วนใหญ่จะกำหนดให้ทำการรีไฟแนนซ์ได้หลัง 3 ปีค่ะ
5. รีเทนชั่น
เป็นวิธีการขอลดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารเดิมที่เป็นเจ้าหนี้ในปัจจุบัน ซึ่งไม่เสียค่าธรรมเนียมในการยื่นกู้ใหม่และไม่ต้องเสียค่าจดจำนองใหม่ แต่อัตราดอกเบี้ยก็ไม่ได้ดึงดูดใจเท่าไหร่ถ้าเทียบกับการย้ายไปธนาคารใหม่ค่ะ
6. ขยายเวลาชำระหนี้
ปกติแล้วธนาคารส่วนใหญ่จะกำหนดระยะเวลาปล่อยกู้ประมาณ 30 ปี และต้องชำระหนี้ทั้งหมดภายในอายุ 70 ปี และถ้าหากระยะเวลาการกู้เดิมยังไม่เต็มก็อาจจะสามารถขอขยายระยะเวลาออกไปอีกได้เพื่อช่วยให้ภาระหนี้ที่จะต้องจ่ายในแต่ละเดือนลดลง เช่น จากเดิมระยะเวลากู้อยู่ที่ 25 ปี ก็อาจจะขอยืดระยะเวลาไปเป็น 30 ปีได้ค่ะ
7. ปรับโครงสร้างลูกหนี้รายย่อยโดยวิธีการรวมหนี้
เป็นนโยบายช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับคนที่ติดหนี้ทั้งสินเชื่อบ้านหรือคอนโดและสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน คือ เป็นการใช้บ้านเป็นหลักประกัน เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยให้กับสินเชื่ออื่นๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตปัจจุบันอยู่ที่ 20-30% ต่อปี ก็จะถูกปรับลดลงมาไม่ให้เกิน MRR ในปัจจุบัน ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารเพราะ MRR แต่ละธนาคารจะไม่เท่ากัน
ปล่อยให้คอนโดโดนยึด
มีหลายๆคนที่คิดว่าปล่อยให้ธนาคารยึดไปเลยจะได้จบๆ มันไม่จบอยู่แค่นั้นนะคะตามที่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 733 ได้กล่าวไว้ว่า ‘ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น’ ในกรณีที่ธนาคารยึดทรัพย์แล้วขายทอดตลาดแล้วเกิดขาดทุนขึ้นมา ทำให้ธนาคารไม่สามารถหักหนี้ได้เท่าที่ควรจะได้ ยอดหนี้คงเหลือเท่าไหร่ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ห้องหามาจ่ายให้กับธนาคารและยังมีดอกเบี้ยที่จะเดินไปเรื่อยๆจนกว่าจะจ่ายครบแต่ถ้าผลสุดท้ายเราไม่สามารถจ่ายได้แล้วและไม่มีอะไรให้ยึดแล้ว ก็อาจจะถูกศาลสั่งฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย เครดิตเสีย ทำธุรกรรมทางการเงินไม่ได้อีกนานเลยค่ะ
ห้ามกู้นอกระบบเด็ดขาด
การกู้เงินนอกระบบนั้นไม่ได้อยู่ในระบบสถาบันการเงินไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง ก็คือเป็นใครไม่รู้ที่มาให้เงินคุณโดยที่ไม่มีระเบียบหรือข้อบังคับที่จะสามารถควบคุมคนเหล่านั้นได้ จึงทำให้เราเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบเองเป็นการเพิ่มหนี้ให้มากยิ่งขึ้นเนื่องจากเงินกู้นอกระบบมีดอกเบี้ยที่สูงเราจะต้องรับภาระทั้งดอกเบี้ยของเงินกู้นอกระบบและภาระหนี้ที่เราต้องจ่ายเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้เพิ่มขึ้นไปอีก และจะทำให้เกิดปัญหาทางการเงินติดขัดและอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้
แฟรี่คอนโดหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านทุกท่านได้พบกับทางออกที่ดีในกรณีถ้าหากผ่อนคอนโดไม่ไหวที่เหมาะสมกับท่านนะคะ และถ้าหากใครที่เผชิญกับปัญหาเหล่านี้อยู่ ทางแฟรี่คอนโดก็หวังว่าทุกๆท่านจะผ่านพ้นปัญหานี้ไปได้ด้วยดีนะคะ