เป้าหมายอีกอย่างหนึ่งในชีวิตของใครหลาย ๆ คน ก็คือการมีบ้าน หรือคอนโดมิเนียมสักห้อง ซึ่งการจะมีบ้านหรือคอนโดมิเนียมนั้นก็ต้องมีเงินในจำนวนที่สูง วันนี้ แฟรี่คอนโด จึงมีคำแนะนำดี ๆ สำหรับวิธีออมเงินซื้อคอนโดมาฝากทุกคนค่ะ
เก็บเงินซื้อบ้านก้อนแรกสำหรับดาวน์บ้าน 20% ในการวางแผนเก็บเงินซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมนั้น ส่วนใหญ่จะซื้อแบบเงินผ่อน แต่ก่อนจะซื้อเราต้องไม่ลืมเก็บเงินก้อนแรกสำหรับเงินดาวน์ นอกจากนั้น ยังมีค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าโอนกรรมสิทธิ์ ค่านายหน้า ค่าจดจำนองค่ะ การวางแผนเก็บเงินซื้อบ้าน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ควรมีอย่างน้อย 20% ของราคาบ้าน คราวนี้มาดูเป้าหมายของตนเองว่าต้องการวางแผนเก็บเงินซื้อบ้านหลังแรกให้ได้ภายในกี่ปี ตัวอย่าง เช่น A ต้องการวางแผนเก็บเงินซื้อบ้านหลังละ 2,500,000 บาท ภายใน 5 ปี (2,500,000x20% = 500,000 บาท) เท่ากับว่าภายในระยะเวลา 5 ปี ดังนั้นนั้น A ต้องมีเงินเก็บมากถึง 500,000 บาทเลยทีเดียว เงินเข้าปุ๊บ ออมทันที อย่าใช้ก่อนแล้วค่อยออมเงิน เมื่อรู้ว่าต้องมีเงินเท่าไรสำหรับเงินดาวน์และค่าเดินเรื่องซื้อขายต่าง ๆ ก้อนแรกแล้ว ทีนี้มาดูวิธีเก็บเงินซื้อคอนโดเพื่อพิชิตเป้าหมายกันบ้าง สำหรับพนักงานประจำที่มีรายได้แน่นอนทุกเดือน ส่วนฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ไม่เท่ากันทุกเดือน อาจต้องเพิ่มวินัยทางการเงินสักหน่อย หรือเดือนไหนมีรายได้เข้ามาเยอะก็พยายามเก็บให้ได้มากที่สุด เลือกสินเชื่อบ้านที่ดีและเหมาะกับตัวเองที่สุด อีกเรื่องที่สำคัญสำหรับคนที่กำลังวางแผนซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียม ก็คือสินเชื่อบ้าน หลายคนมักเลือกกู้สินเชื่อบ้านกับสถาบันการเงินที่มีข้อเสนอที่ดีที่สุด พิจารณาได้จากอัตราดอกเบี้ย แต่ต้องดูในภาพรวมด้วยว่าเหมาะสมกับระยะเวลาผ่อนชำระหรือไม่ ไม่ใช่ดูแค่ว่าดอกเบี้ยในปีแรกต่ำเท่านั้น โดยแบ่งเป็นประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่ หมายถึงดอกเบี้ยที่ต้องชำระในช่วง 1-5 ปีแรกจะยังคงที่ และค่อยปรับเป็นแบบลอยตัวตามเงื่อนไขที่สถาบันการเงินกำหนด อีกประเภทหนึ่งคืออัตราดอกเบี้ยที่ลอยตัว หมายถึงจำนวนดอกเบี้ยที่ต้องชำระคงที่ในช่วงแรกเท่านั้น จากนั้นจะปรับขึ้นลงตามสถานการณ์ตลาดเงิน สถาบันการเงิน ซึ่งเราจะไม่รู้เลยว่าแต่ละปีจะปรับเท่าไร ซึ่งบางปีอาจปรับขึ้นสูง และอย่าลืมว่าอัตราดอกเบี้ยบ้านของบ้านใหม่กับบ้านมือสองก็ไม่เท่ากัน นอกจากนี้ ต้องดูค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ จดจำนอง ไถ่ถอนจำนอง ค่าประเมินมูลค่าประกันค่ะ แยกบัญชีใช้จ่ายจากบัญชีเงินเก็บ การแยกบัญชีเงินเก็บออกจากบัญชีอื่น ๆ อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะกับบัญชีใช้จ่าย เพื่อความชัดเจนว่าเงินก้อนไหนที่ใช้ได้และเงินก้อนไหนที่ใช้ไม่ได้ และยังทำให้เราทราบสถานะทางการเงินของตัวเองด้วยว่ายังมีเงินที่สามารถใช้จ่ายได้เหลือเท่าไหร่ แล้วมีเงินเก็บสะสมอยู่กี่บาท ซึ่งมีความสะดวกในการบริหารจัดการเงินเป็นอย่างมากและช่วยสร้างการออมที่มีวินัยอีกด้วย มีบัตรเอทีเอ็มใบเดียวพอ เหตุผลที่บางคนไม่ชอบใช้บัญชีเงินฝากหลายบัญชีก็เพราะกลัวค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็ม แต่ผู้เก็บเงินก็ไม่จำเป็นต้องเปิดบัตรเอทีเอ็มให้กับบัญชีเงินเก็บแต่อย่างใด ในทางกลับกัน การไม่มีบัตรเอทีเอ็มจะช่วยให้เงินที่เก็บไว้ถูกนำออกมาใช้ได้ยากขึ้น ซึ่งวิธีนี้ขอให้รวมถึงการไม่เปิดใช้อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งกับบัญชีเงินเก็บด้วย เพื่อปิดประตูทางออกของเงินเก็บให้เหลือวิธีเดียวที่จะถอนออกมาได้คือ ต้องไปเข้าแถวต่อคิวที่ธนาคารเท่านั้น ใช้วิธีเก็บเงินให้เร้าใจ ถ้าการเก็บเงินซื้อบ้านเฉย ๆ ยังดูไม่ตื่นเต้นมากพอที่จะกระตุ้นความอยากเก็บเงินของตัวเอง ขอให้ลองใช้วิธีเก็บเงินภาคพิเศษที่จะช่วยทำให้การเก็บเงินเป็นเรื่องสนุกและมีสีสันไม่ว่าจะเป็น การเก็บธนบัตร 50 บาททุกใบ หรือจะเป็นการเก็บเงินทุกวันตามจำนวนวันที่อย่าง วันที่ 1 เก็บ 10 บาท วันที่ 31 เก็บ 310 บาท หรือตั้งเป้าหมายว่าทุกการใช้จ่ายต้องมีเงินเก็บคืนเข้าบัญชีก็ทำได้เช่นกันค่ะ
ทำรายรับรายจ่ายให้ชัด
การทำรายรับรายจ่ายของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เพื่อประเมินจำนวนเงินที่คาดว่าจะเก็บได้ แล้วหาวิธีการเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย การเก็บเงินซื้อคอนโดก็จะทำได้ไวยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีแอพที่ช่วยในการทำรายรับรายจ่ายอีกด้วย ทำให้สะดวกต่อการจดบันทึกไม่น้อยเลยล่ะค่ะ
เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
หากผู้เก็บเงินเป็นพนักงานบริษัท การเข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการเก็บเงิน เพราะบริษัทต่าง ๆ มักจะมีกองทุนให้ลูกจ้างสะสมเงินเป็น % จากฐานเงินเดือนทุกเดือน และยังมีเงินสมทบจากนายจ้างที่เปรียบเสมือนดอกเบี้ยให้อีกด้วย ส่วนเงื่อนไขการถอนก็อาจจะยุ่งยากพอสมควร แต่ก็ทำให้ผู้เก็บเงินไม่อยากถอนเงินสะสมออกมาเท่าไรนัก ที่สำคัญอีกอย่างคือ สามารถนำเงินที่เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปลดหย่อนภาษีเงินได้ได้อีกด้วย
ฝากประจำแบบปลอดภาษี
การเปิดบัญชีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษีเป็นอีกหนึ่งวิธีเก็บเงินยอดนิยมที่ช่วยบังคับให้ฝากเงินเป็นประจำทุกเดือน โดยจะได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป แต่ผู้เก็บเงินต้องมีวินัยในการเก็บเงินอย่างเข้มงวด เพราะธนาคารจะตัดสิทธิ์การรับดอกเบี้ยพิเศษทันทีหากผู้เก็บเงินไม่ฝากเงินเข้าบัญชีให้ตรงตามวันที่กำหนดไว้
ซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์นั้นเป็นอีกวิธีเก็บเงินที่น่าสนใจ โดยประกันแบบนี้จะมีการบังคับฝากเงินเป็นประจำทุกเดือนหรือทุกปี และแผนประกันบางแบบก็จ่ายเงินปันผลให้ตามรอบที่กำหนด ก่อนจะได้รับเงินคืนทั้งก้อนเมื่อสิ้นสุดการชำระเบี้ยประกัน แต่ถ้าผู้เก็บเงินเสียชีวิตหรือพิการในระหว่างเวลาคุ้มครอง ก็จะได้รับเป็นเงินก้อนใหญ่แทน นี่จึงเป็นวิธีเก็บเงินพร้อมรับผลประโยชน์ด้านความคุ้มครองไปในตัวด้วย
ไม่ว่าจะเป็นวิธีเก็บเงินแบบไหน ๆ ก็จะไม่มีทางเก็บเงินอย่างได้ผล หากผู้เก็บเงินยังคงมีพฤติกรรมใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยไม่ยอมเปลี่ยน ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้ใจแข็งต่อสิ่งล่อตาล่อใจ ห้ามซื้อของฟุ่มเฟือย ห้ามจ่ายสิ่งที่ไม่จำเป็น และตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินจนเป็นนิสัย ก็จะช่วยให้เราสามารถเก็บเงินซื้อคอนโดมิเนียมได้ง่ายและรวดเร็วกว่าเดิมค่ะ